อาชีพข้าราชการเป็นอาชีพที่ต้องรับใช้ประชาชน รายได้ของข้าราชการมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงต้องมีความเข้มงวดมากกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะไม่เป็นการยุติธรรมกับประชาชน อีกทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับภาพพจน์ของประเทศชาติด้วย
ซึ่งวิธีหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็คือ “การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน” นั่นเอง
การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินคืออะไร?
คือการที่ข้าราชการต้องนำแบบฟอร์มมาแสดงว่าตนมีทรัพย์สินและเงินทองอยู่ในครอบครองเท่าไหร่บ้าง เพื่อที่ว่าถ้าหากมีของมูลค่าสูง หรือจำนวนเงินทองที่ผิดแผกไปจากที่แจ้งไว้ จะได้ตรวจสอบได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่
ข้าราชการตำแหน่งใดบ้างที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน?
ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในทางการเมืองและในทุกหน่วยงานของรัฐ ผู้พิพากษา อัยการ ตุลาการมีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน
ดูรายละเอียดของตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สิน >> http://www.ago.go.th/articles_62/article_040362.pdf
ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินอย่างไรให้ถูกต้อง?
แบบฟอร์มการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. กำหนด โดยต้องแสดงทั้งทรัพย์สินที่มีในประเทศและต่างประเทศ/หนี้สินทั้งของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พร้อมทั้งแนบหลักฐานต่อไปนี้
- เอกสารหรือหลักฐานใดๆที่แสดงว่าทรัพย์สินในบัญชีนั้นมีจริง
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
- ลายมือชื่อเพื่อรับรองความเป็นจริงของทุกสิ่งที่ยื่นแสดง
การยื่นบัญชีทรัพย์สินจะมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทนหรือยื่นด้วยตนเองก็ได้ โดยสามารถยื่นได้ทั้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและทางอิเล็กทรอนิคส์
ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อไหร่?
ยื่นภายใน 60 วัน นับจากวันที่เข้ารับหรือพ้นจากตำแหน่ง และตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่ง ต้องยื่นทุก 3 ปี
ทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงในรายการมีอะไรบ้าง?
- เงินสด/เงินฝาก/เงินลงทุน/เงินให้กู้
- ที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง/โรงเรือน
- ยานพาหนะ
- สิทธิและสัมปทาน
- ทรัพย์สินอื่นๆ
- เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ธนาคาร
- หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรณ์
- หนี้สินอื่นๆ