การทุจริตอย่างการรับสินบนนั้นสามารถพบได้ทุกแวดวง ทุกอาชีพ รวมทั้งบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีบทลงโทษที่แตกต่างกันออกไป ส่วนในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นอาชีพข้าราชการ ต้องทำงานรับใช้ประชาชน รับเงินเดินที่มาจากภาษีของประชาชน ถูกจับได้ว่ารับสินบนขึ้นมา จะโดนโทษอย่างไรบ้าง และมีอะไรที่ควรรู้เกี่ยวกับความผิดเรื่องนี้อีก
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่าสินบนกันก่อน คำว่าสินบนในที่นี้หมายถึงทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่เสนอให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง เพื่อให้ผู้นั้นกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการอะไรบางอย่าง
เราอาจจะเข้าใจมาตลอดว่า ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะรับสินบนมาด้วยวิธีใดก็ย่อมมีความผิดเสมอ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้ว ตามกฎหมายยังกำหนดกรณีให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถรับสินบนแบบไม่มีความผิดได้ด้วย ได้แก่…
1. รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จากญาติ ในลักษณะที่เป็นการให้โดยเสน่ห์หา เช่น ซื้อของขวัญให้ตามโอกาสพิเศษ เป็นต้น
2. ในกรณีที่รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ แต่ละครั้งห้ามมีมูลค่าเกิน 3,000 บาท
3. ถ้าการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์นั้น เป็นการรับแบบที่บุคคลทั่วไปก็มีสิทธิได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด
4. ถ้าการรับสิ่งที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทนั้นเป็นความจำเป็น เช่น รับไว้เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างบุคคล ไม่ใช่การรับเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ให้แจ้งข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาว่ามีความเหมาะสมที่จะรับไว้หรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จะให้คืนทรัพย์สินที่ได้มาไป หรือไม่ก็ให้ทรัพย์สินนั้นเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมภายในหน่วยงานที่ข้าราชการนั้นสังกัดอยู่
ถ้าหากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานรับสินบนแล้ว บทลงโทษจะเป็นอย่างไร?
โทษในการรับสินบนของข้าราชการมีตั้งแต่จำคุกจนถึงประหารชีวิตเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่ารับสินบนมามากน้อยแค่ไหน และผลของการรับสินบนนั้นร้ายแรงแค่ไหน