จะรับราชการครู หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดี ?

0
1732
งานราชการ

สำหรับใครที่รักการสอน ตอนนี้อาจจะกำลังตัดสินใจว่าจะรับราชการครู หรือจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดี เพราะยังไม่แน่ใจว่าแตกต่างกันยังไงบ้าง ในบทความนี้เราจึงจะมาสรุปให้ฟังกันคร่าวๆ ว่าทั้งสองอาชีพต้องใช้วุฒิอะไร และมีรายละเอียดสำคัญอะไรที่ควรรู้บ้าง

อาชีพครู

อาชีพครูในที่นี้เป็นงานราชการ หมายถึงครูตามโรงเรียนของรัฐที่ทำการสอนตามหลักสูตรมาตรฐาน ผู้ที่จะรับราชการครูได้ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูตามระเบียบของคุรุสภา และจำเป็นที่จะต้องจบการศึกษาคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ด้วย ซึ่งการจะเป็นครูนั้น ไม่ใช่ว่าเดินเข้าโรงเรียนไปสมัคร พิจารณาวุฒิการศึกษา พอเห็นว่าวุฒิผ่านแล้วจะได้เป็นเลย ต้องมีการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยก่อน จากนั้นภายในเวลาประมาณ 2 ปี ก็จะมีการประเมินการทำงานอยู่หลายครั้ง จึงจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครู นอกจากนี้หากขยัน ตั้งใจทำการสอน หมั่นพัฒนาความรู้เสมอ ก็จะได้วิทยฐานะเป็นครูชำนาญการ ครูเชี่ยวชาญ ฯลฯ

สวัสดิการของข้าราชการครู
1. เงินเดือน, เงินวิทยฐานะ, ค่าตอบแทน
2. สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลสำหรับตัวข้าราชการ บิดา มารดา คู่สมรสตามกฎหมาย และบุตรในสมรส
3. สิทธิในการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบปริญญาตรี ไม่ว่าจะสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน แต่ทั้งนี้บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี
4. สิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้าน

อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย

หลายคนอาจเข้าใจว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ตามคณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ฯลฯ ต้องจบครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์มา และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือไม่? คำตอบคือไม่ต้อง เพราะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้นไม่เหมือนในโรงเรียนประถมและมัธยม ในโรงเรียนประถมและมัธยมนั้นจะเรียนหลักสูตรมาตรฐานที่มีหลายๆวิชารวมกัน ในขณะที่มหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็นคณะ ให้เลือกเรียนตามความสนใจได้ มีความเฉพาะทาง อีกทั้งนิยามของคำว่าครูยังหมายถึงเฉพาะผู้ที่ทำการสอนในโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงในสถานศึกษาระดีบมหาวิทยาลัย ดังนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และไม่ต้องจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์

เดิมทีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นงานข้าราชการเช่นเดียวกับอาชีพครู แต่หลายๆมหาวิทยาลัยตัดสินใจออกนอกระบบมานานแล้ว ทำให้ตำแหน่งอาจารย์กลายเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ทั้งนี้ก็มีอาจารย์หลายๆท่านที่ทำการสอนมานานแล้วแต่ไม่ได้ออกนอกระบบตามไปด้วย ยังคงเลือกเป็นข้าราชการอยู่เช่นเดิม ในกรณีนี้ สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆที่พึงได้รับก็จะเหมือนกับอาชีพข้าราชการอื่นๆ ส่วนใครที่ออกนอกระบบไปแล้ว สวัสดิการก็จะเป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย