บำเหน็จกับบำนาญคืออะไร ต่างกันอย่างไร?
ในงานราชการ บำเหน็จและบำนาญเป็นสิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งของผู้รับราชการ ซึ่งหลายคนมักจะสับสนว่ามันคืออะไร และที่สำคัญ แตกต่างหรือเหมือนกันกันแน่
บำเหน็จกับบำนาญคืออะไร?
ทั้งสองอย่างคือเงินตอบแทนสำหรับข้าราชการเหมือนกัน แต่มีจุดต่างที่กว้างโขอยู่ คือบำเหน็จจะจ่ายเป็นเงินก้อนเพียงครั้งเดียว ส่วนบำนาญจะได้เป็นรายเดือน ทั้งหมดนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน
1. บำเหน็จบำนาญแบบปรกติ
ผู้ที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญประเภทนี้ได้แก่ข้าราชการ ผู้รับเงินเดือนจากงบรายจ่ายประเภทบุคลากร และไม่เป็นบุคคลต้องห้าม บำเหน็จบำนาญประเภทนี้จะให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุต้องทดแทน (ต้องออกจากราชการ/ตำแหน่ง), ผู้มีสิทธิกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ (เจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดังเดิม), ผู้มีสิทธิเป็นผู้สูงอายุ (ในที่นี้หมายถึงอายุ 50 ปีขึ้นไป) และผู้มีสิทธินั้นรับราชการนานแล้ว (ถ้ารับราชการเกิน 1 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับบำเหน็จ แต่ถ้าเกิน 10 ปี จะได้รับบำนาญ) นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิรับบำนาญ จะขอรับบำเหน็จแทนก็ได้
2. บำนาญแบบพิเศษ
จะมีการให้ใน 2 กรณี คือปฏิบัติงานราชการแล้วบาดเจ็บจนกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ บาดเจ็บจนไม่สามารถรับราชการได้อีก หรือถึงแก่กรรม ในกรณีที่ถึงแก่กรรม พ่อแม่ คู่สมรส และบุตรจะเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินนี้ เงื่อนไขของบำนาญประเภทนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน ก็คือจะต้องพิสูจน์ให้เห็นเป็นหลักฐานได้จริงๆว่าเข้าเงื่อนไขจากการปฏิบัติงานราชการ ไม่ใช่ความประมาทหรือเกิดจากความผิดของตนเอง
3. บำเหน็จแบบตกทอด
จะมีการจ่ายก็ต่อเมื่อตัวข้าราชการเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้ายจนถึงแก่กรรม ทั้งนี้ต้องไม่เกิดจากความผิดของตนเอง สำหรับกรณีถึงแก่กรรม ปรกติแล้วจะมีแบ่งจ่ายให้พ่อแม่ 1 ส่วน ตู่สมรส 1 ส่วน และบุตร(ตามกฎหมาย) 2 ส่วน แต่ถ้าไม่มีทายาททั้ง 3 นี้เลย จะจ่ายให้แก่ผู้ที่ผู้ตายได้แสดงเจตจำนงเอาไว้แทน
4. บำเหน็จเพื่อการดำรงชีพ
ผู้ที่จะได้รับคือผู้ที่มีสิทธิในบำนาญ โดยจะจ่ายให้ไม่เกิน 15 เท่าของบำนาญ และสามารถขอรับได้พร้อมกับบำนาญ